จริงอยู่ที่ว่าโลกเรามีนางแบบนายแบบ มาพร้อมๆ กับการผลิตเสื้อผ้าในเชิงพาณิชย์ แม้ในช่วงแรกจะจำกัดอยู่ที่กลุ่มชนชั้นสูงในสังคม ทั้งการซื้อขายหรือการเป็นนางแบบ/นายแบบ และเมื่อการผลิตในแบบอุตสาหกรรมเข้ามาหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเริ่มก่อรูปร่างขึ้นและพัฒนาอย่างก้าวไกลในช่วงศตวรรษที่ 20 ก่อให้เกิดแบรนด์เสื้อผ้าหลากหลายทั้งในแบบแมสหรือระบบแฟชั่นชั้นสูง แต่เมื่อพูดถึงคำว่านางแบบ ชื่อหรือใบหน้าที่เรานึกถึงก็จะมีแต่คริสตี้ เทอร์ลิงตั้น, นาโอมิ แคมป์เบล, ลินดา อีวานเจลิสต้า, ซินดี้ ครอว์ฟอร์ด หรือเคท มอสส์ เพราะชื่อเหล่านี้คือ ‘ซูเปอร์โมเดล’ ตัวจริง ก่อนเคนดัล เจนเนอร์, เบลล่า ฮาดิด และ จีจี้ ฮาดิด หรือคาย่า เกอร์เบอร์ ณ บัดนาว

ในปัจจุบันนี้ชื่อของเคนดัล เจนเนอร์, เบลล่า ฮาดิด, จีจี้ ฮาดิด หรือคาย่า เกอร์เบอร์ กลายมาเป็นผู้เล่นหลักในโลกแฟชั่น และหากจะบอกว่าพวกเธอเป็นนางแบบก็ไม่เชิง เพราะเธอนั้นไม่ได้มาจากการค้นพบของช่างภาพหรือโมเดลเอเจนซี่ อย่างนางแบบในยุค ’90s หรือ 2000s แต่เธอสร้างตัวเองขึ้นมาจากการเป็นลูกหลานคนดัง อินสตาแกรม และโซเชียลมีเดียต่างๆชื่อเรียกหรือนิยามคำว่า Insta-Girls นั้นเริ่มต้นในช่วงปีค.ศ. 2016 พร้อมๆ กับการที่โซเชียลมีเดียเข้ามาเทกโอเวอร์โลกทั้งโลก





พวกเธอทั้งหลายรู้ดีว่าค่าตัวจากการเดินแบบ ถ่ายแฟชั่น หรือปกนิตยสารนั้นไม่พอที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวหรือทำมาหากินเป็นอาชีพที่มั่นคงและมั่งคั่งได้ ประกอบกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป แฟชั่นแม็กกาซีนไม่ได้เป็นพระเจ้าของโลกแฟชั่นอีกต่อไป อีกทั้งยังลดลงและล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ ผู้คนก็ไม่ได้เสพเรื่องราวความหรูหราของโลกแฟชั่นหรือติดตามคนดังจากหน้ากระดาษอีกต่อไป โลกทั้งโลกเคลื่อนย้ายสู่แพลตฟอร์มใหม่ที่เรียกว่าโซเชียลมีเดีย และนั่นเองคือฐานที่มั่นของนางแบบในยุคปัจจุบันทั้งหลายที่สามารถอวดชุดหรู การแต่งหน้าสุดแกลมรวมไปถึงไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้โดยไม่ต้องรอให้แม็กกาซีนมาจ้างไปถ่าย แต่พวกเธอทำได้เลยผ่านการลงรูปในอินสตาแกรม
เคนดัล เจนเนอร์มีผู้ติดตามถึง 110 ล้านแอ็กเคาต์ เบลล่า ฮาดิด มี 24.4 ล้าน จีจี้ ฮาดิด มี 47.7 ล้าน เฮลลีย์ บีเบอร์ มี 19.5 ล้าน เอมิลี่ ราทาจโคว์สกี้ มี 22.7 ล้าน พวกเธอเหล่านี้มีตัวเลขในกำมือที่จะต่อรองกับผู้ว่าจ้างได้ว่าเธอต้องการค่าตัวเท่าไร ในยุคที่การวัดผลทางการตลาดอยู่ที่ยอดการคลิกไลก์ จึงไม่แปลกใจว่าราคาการลงรูปโปรโมตสินค้าในอินสตาแกรมของอินสตาเกิร์ลเหล่านี้สูงถึง 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

สิ่งที่น่าสนใจและทำให้พวกเธอเหล่านี้แตกต่างจากนางแบบรุ่นก่อนๆ ก็คือ พื้นที่ที่เลื่อนไหลของตัวตนและอาชีพ จะเรียกว่าพวกเธอเป็นนางแบบก็ได้ แต่เธอก็ไม่ได้มีรายได้หลักมาจากการเดินแบบ ถ่ายแบบเท่านั้นสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนประกอบในการต่อยอดความโด่งดังของพวกเธอ ไม่จำเป็นต้องเดินแบบให้ได้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องถ่ายปก ถ่ายแคมเปญแฟชั่นให้เยอะที่สุด เพียงแต่ทำให้ตัวเองถูกเห็นและกระจายการได้ถูกเห็นให้ได้มากที่สุดผ่านแพลตฟอร์มของโลกโซเชียลมีเดียและอินเตอร์เน็ตเท่านั้นพอ



วันนี้เคนดัลสวมใส่อะไรออกจากบ้าน วันนี้จีจี้แต่งหน้าแบบไหนถ่ายรูปลงอินสตาแกรม เอ๊ะ! เบลล่ากำลังเดทกับใครนะ อุ๊ย! ดูหุ่นของเอมิลี่สิ ยิ่งกว่านางแบบวิกตอเรียส์ ซีเคร็ตเสียอีก มันคือยุคที่ตัวกลางการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ นิตยสาร รันเวย์แฟชั่น ฯลฯ หายไป โลกของโซเชียลมีเดียสามารถเขยิบผู้คนจากอีกซีกโลกหนึ่งให้เข้ามาใกล้กับสิ่งที่เรียกว่าเซเลบริตี้และคนดังได้ เพียงแค่คุณคลิกไลก์เท่านั้นเอง