Fly Me To The Moon
สำหรับคนยุคกรีกโบราณ ดวงจันทร์คงเป็นตัวแทนของเทพอาร์เทมิส น้องสาวฝาแฝดของเทพอะพอลโล ส่วนคนญี่ปุ่นยุคเก่าก่อน คงเชื่อว่ามีเพียงนิทานเจ้าหญิงคางุยะที่จากโลกนี้ไปเพื่อกลับไปยังดวงจันทร์... ความงามของดวงจันทร์เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเรื่องราวเล่าขานหรือศิลปะมากมาย แต่ก่อนปีค.ศ. 1959 น้อยคนจะคิดว่าเราจะเดินทางไปยังดวงจันทร์จริงๆ ได้ ถ้าคุณไม่ใช่ จูลส์ เวิร์น เจ้าพ่อไซไฟ นักเขียนนิยายเรื่อง From The Earth To The Moon หรือจอร์จ เมลิแยส ผู้กำกับภาพยนตร์ขาวดำยุคแรกๆ เรื่อง Le Voyage Dans La Lune (1902) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของนักบินอวกาศขี่จรวจไปยังดวงจันทร์และจับชาวพระจันทร์กลับมาด้วย


ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งจินตนาการของเราได้ และในขณะที่จินตนาการมักก้าวไกลกว่าโลกแห่งความจริง แต่มันก็มักเป็นแรงฉุดให้ความจริงก้าวตามไปได้เสมอ...หลังจากสหภาพโซเวียตส่งยานอวกาศพร้อมนักบินขึ้นไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จเป็นเจ้าแรก ในที่สุด วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1969 องค์การนาซ่าของสหรัฐก็สามารถปล่อยจรวจแซทเทิร์น 5 ทะยานขึ้นจากฐานเพื่อนำยานอวกาศ Apollo 11 เดินทางไปสำรวจดวงจันทร์พร้อมนักบินอวกาศ 3 คน ซึ่งได้แก่ นีล อาร์มสตรอง บัซ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์ พวกเขาเดินทางอยู่ 4 วันจนได้มาถึงดวงจันทร์ในวันที่ 20 กรกฎาคม (เฮ้ อาร์เทมิส พี่ชายมาหาเจ้าแล้ว!)
ขณะที่คอลลินส์เฝ้าอยู่ที่ยาน นีล อาร์มสตรองคือมนุษย์คนแรกที่เหยียบลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ ตามด้วยบัซ อัลดริน ทั้งสองได้ติดตั้งเครื่องวัดแผ่นดินไหว กระจกเลเซอร์เครื่องวัด "ลมสุริยะ" และเก็บตัวอย่างหินและดิน 20.8 กิโลกรัม นำกลับโลก รวมเวลาอยู่บนดวงจันทร์ 21 ชั่วโมง 36 นาที และเดินทางกลับมาถึงโลกในวันที่ 24 กรกฎาคม
“นี่เป็นก้าวเล็ก ๆ ของมนุษย์คนหนึ่ง แต่เป็นก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ”...ในการปฏิบัติภารกิจในอวกาศครั้งนั้นนอกจากเป็นความสำเร็จของมนุษยชาติแล้ว ยังสร้างชื่อเสียงให้กับ OMEGA แบรนด์นาฬิกาสวิสที่ส่งนาฬิกา Speedmaster เข้าทดสอบและผ่านมาตรฐานขั้นสูง (ทั้งความร้อน การสั่นสะเทือน สภาวะสุญญากาศ)
เจมส์ เรแกน อดีตวิศวกรขององค์การนาซ่ากล่าวว่า “นาฬิกาเปรียบเป็นตัวสนับสนุนที่สำคัญยิ่ง หากนักบินอวกาศสูญเสียความสามารถในการพูดคุยกับทีมงานภาคพื้นดิน หรือนาฬิกาจับเวลาดิจิทัลบนพื้นผิวดวงจันทร์ไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องพึ่งพาคือ นาฬิกาบนข้อมือของพวกเขาเท่านั้น” ด้วยเหตุนี้ ทำให้ Omega Speedmaster ได้รับเลือกเป็นนาฬิกาที่นักบินอวกาศใส่ไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ครั้งนั้น และทำให้ได้ฉายา Moonwatch และเป็นที่ต้องใจนักสะสมแม้กระทั่งรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาสานต่อตำนานนี้ด้วย
